วันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2557

Costumes : การแต่งกาย


    ๑.  การแต่งกาย
         ๑.๑  หีบชุดงิ้ว
งิ้วหนึ่งเรื่อง มีจำนวนตัวละครมากมายหลายบทบาท ชุดที่ใช้ก็มีจำนวนมากตามไปด้วย
การแสดงงิ้วในแต่ละประเภท ก็ไม่ได้มีแค่เรื่องๆเดียว แต่มีเป็นสิบๆหรือร้อยๆเรื่อง แน่นอนว่าต้องใช้ชุดเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีหลักการจัดเจ็บดูแลรักษาชุดงิ้วที่ดีด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และป้องกันไม่ให้ชุดงิ้วแต่ละชุดได้รับความเสียหาย
          ตามหลักการการจัดเก็บชุดงิ้ว จะต้องมีอาจารย์ผู้ดูแลหีบชุดงิ้วโดยเฉพาะ อาจารย์เหล่านี้มีหน้าที่จัดชุดงิ้วในแต่ละวันที่ต้องแสดง ต้องรู้จักงิ้วทุกเรื่อง และต้องรู้ว่าตัวละครในเรื่องนั้นๆต้องใช้ชุดประเภทใด
          ก่อนการแสดงอาจารย์ดูแลหีบชุดจะนำชุดงิ้วมารีดให้เรียบร้อย และแขวนรอไว้ทุกชุด เมื่อถึงเวลาแสดง ก็จะมีหน้าที่คอยช่วยใส่ชุดให้กับนักแสดงอีกด้วย เมื่อจบการแสดง อาจารย์ผู้ดูแลหีบชุดงิ้วก็ยังต้องนำชุดมาตากให้แห้ง จากนั้นจึงนับมาพับเก็บ โดยมีวิธีการพับเฉพาะ เพื่อไม่ให้ชุดงิ้วเกิดความเสียหาย แล้วจึงนำลงเก็บในหีบชุดงิ้วดังเดิม และต้องมีหลักในการแยกเก็บตามหีบต่างๆ ดังนี้
๑)  หีบใหญ่ (大衣箱) มีไว้เก็บชุดบรรดาศักดิ์ ชุดขุนนางข้าราชการชุดคลุม ชุดลำลอง รวมถึงชุดของฝ่ายบุ๋นต่างๆทั้งหมด

๒)  หีบสอง (二衣箱) มีไว้เก็บชุดของฝ่ายบู๊โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะชุดเกราะแข็ง หรือเกราะประยุกต์

๓)  หีบสาม (
三衣箱) มีไว้เก็บเสื้อซับ เสื้อนวม ปกคอ รองเท้าทุกประเภท

๔)  หีบอุปกรณ์ (旗包箱) มีไว้เก็บอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ธง ขื่อคา ผ้าคลุมโต๊ะ แส้ต่างๆ 

๕)  หีบอาวุธ (
把子箱) มีไว้เก็บอาวุธจำลองที่ไว้ใช้บนเวทีงิ้ว เช่น หอก ดาบ กระบี่ ทวน ง้าว

จะเห็นได้ว่าชุดงิ้วและอุปกรณ์ต่างๆ จะมีหีบที่แน่นอนในการเก็บรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้ชุดเสียหายจากการเกี่ยวหรือกดทับระหว่างชุดหรืออุปกรณ์ด้วยกันเอง อีกทั้งยังสะดวกแก่การค้นหาและจัดเตรียมก่อนถึงเวลาการแสดงอีกด้วย
          ขั้นตอนที่ยุ่งยากและพิถีพิถันนี้เอง ทำให้จำเป็นต้องมีอาจารย์ผู้ดูแลหีบชุดโดยเฉพาะ
เช่นเดียวกับหมวกงิ้ว ที่ต้องมีหีบหมวกแยกต่างหาก และต้องมีอาจารย์อีกท่านคอยดูแล

          อนึ่ง คณะงิ้วแต่ละคณะ งิ้วแต่ละประเภท อาจมีหลักในการเก็บชุดที่ต่างกันออกไป แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ในทุกคณะคือ อาจารย์ผู้ดูแลหีบชุดงิ้วและอาจารย์ผู้ดูแลหีบหมวก เพราะหากขาดทั้งสองท่านนี้ การแสดงก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย
(ngiew.com,๒๕๕๕)
                  ๑.๒  ชุดงิ้ว
๑)  หมวดชุดบรรดาศักดิ์
            การใช้งาน : ใช้กับราชวงศ์และผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ เป็นชุดพิธีการ
          รูปแบบ : คอกลม ดุมข้าง มีผ้าขาวต่อยาวจากชายแขนเสื้อ ชุดยาวถึงหลังเท้า ชุดหญิงสั้นกว่าชุดชาย
          ที่มา : พัฒนามาจากชุดในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ในสมัยหมิงจะเป็นชุดที่พระราชทานให้แก่ขุนนางผู้ทำคุณประโยชน์ถือเป็น ชุดพระราชทาน ต่อมาในสมัยชิงถือเป็น ชุดสิริมงคล ลวดลายมังกรกับลวดลายหม่าง ต่างกันเพียงแค่ หม่างมีสี่เล็บ มังกรมีห้าเล็บ ดังนั้นจึงเรียกชื่อนี้ว่า ชุดหม่าง เพราะบนชุดมักจะมีการปักตัวหม่างลงไป ชุดหม่างหรือชุดบรรดาศักดิ์ในการแสดงงิ้วก็พัฒนามาจากชุดในสองราชวงศ์นี้เอง
          จุดเด่น : ชุดนี้ถือได้ว่าได้รับเอาศิลปะเครื่องแต่งกายในยุคต่างๆมาไว้ในชุดได้อย่างงดงามอย่างยิ่ง แขนเสื้อที่กว้างแสดงถึงความสง่าผ่าเผย ลวดลายที่ปักก็มีนัยยะที่หลากหลาาย ชุดนี้เคลื่อนไหวสะดวก เหมาะแก่การแสดงอารมณ์ต่างๆ ด้วยตัวชุดมิได้ถูกรัดแนบร่างผู้สวมใส่ เพราะเข็มขัดที่ใส่อย่างหลวมๆเป็นไปเพื่อเพิ่มความสวยงามในฐานะเครื่องประดับเท่านั้น ทำให้ผู้สวมใส่เคลื่อนไหวและแสดงท่าทางได้อย่างอิสระ ไม่ถูกจำกัดด้วยชุด ชายแขนเสื้อที่ต่อยาวออกมาก็ยังสามารถนำมาใช้ในการแสดงอารมณ์ต่างๆ อันถือเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของชุดงิ้วเหล่านี้
          วัตถุดิบ : ผ้าต่วน
          ลวดลาย : โดยมากจะเป็นรูปมังกร พระอาทิตย์ ภูเขา ก้อนเมฆ สิ่งของและสัญลักษณ์สิริมงคลต่างๆ โดยมังกรสื่อความหมายถึงความสูงศักดิ์ที่ต้องเคารพนับถือ สื่อถึงสถานภาพของประมุข
ลวดลายมังกรแบ่งออกเป็นหลายแบบ เช่น มังกรวง (วน) มังกรเคลื่อนไหว และมังกรใหญ่ แต่ละแบบมีความหมายต่างกัน ลวดลายบนชุดสื่อความหมายถึงอุปนิสัยและลักษณะตัวละคร
          สี : บนล่างห้าสีล้วนถูกนำมาใช้ โดยให้สอดคล้องกับลักษณะตัวละคร
          การปัก : มีสามแบบ คือแบบปักไหมสี ปักดิ้นเงินหรือทอง และปักไหมตัดขอบด้วยดิ้นเงินหรือทอง การเลือกใช้แบบใดก็ขึ้นอยู่กับตัวละครเช่นกัน

๒)  หมวดชุดเกราะ
          การใช้งาน : ใช้นักรบ ขุนพล แม่ทัพทั้งสำหรับชายและหญิง
          รูปแบบ : คอกลม มีปกไหล่คลุมทับ ปลายแขนเสื้อรวบพอดีข้อมือ มีเกราะท้อง และเกราะขา ช่วงสะโพกด้านหลังมีแผ่นเกราะทั้งสองด้าน เกราะสำหรับผู้หญิงจะมีส่วนเกราะท้องที่เล็กกว่าของชาย ด้านล่างเป็นกระโปรงริ้ว
          ที่มา : พัฒนามาจากเกราะในสมัยราชวงศ์ชิง มีลักษณะบนเป็นเสื้อ ล่างเป็นกระโปรง
เป็นผ้าที่เย็บโดยบรรจุฝ้ายไว้ภายใน แล้วนำแผ่นโลหะมาประดับด้านนอก ซึ่งในความเป็นจริงไม่เหมาะแก่การออกรบ เพราะแท้จริงแล้วชุดนี้จะใช้สำหรับพิธีการ ต่างกับชุดเกราะในสมัยโบราณที่ต้องใช้งานรบจริง ที่ทำจากโลหะทั้งชุด พอมาอยู่บนเวทีก็ได้รับการตกแต่งและพัฒนาจนเป็นที่พบเห็นกันในปัจจุบัน
          จุดเด่น: มีลักษณะเป็นเสื้อยาวลงมาทั้งตัว ดูแล้วเหมือนเสื้อแต่ก็ไม่เหมือน จะว่าเหมือนเกราะก็ไม่เหมือน เพราะส่วนที่ทำเป็นเกราะก็ไม่ได้ทำให้แนบร่างกาย เกราะในการแสดงมีลักษณะหลวม แยกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ แล้วนำมาประกอบกัน ทำให้ดูพริ้วไหวยามออกท่าทาง นอกจากจะดูสวยงามแล้ว ยังดูสง่า และเพราะเกราะที่ใหญ่โตเกินความจริง จึงทำให้ผู้สวมใส่ดูน่าเกรงขามขึ้นมาทันที
          วัตถุดิบ : ผ้าต่วน
          ลวดลาย : ลายส่วนมากเป็นเกล็ดปลา เพราะมีลักษณะเหมือนเกล็ดบนชุดเกราะ
หน้าอกและไหล่มีตัวอักษรสิริมงคลที่แปลว่าอายุยืน เพื่ออวยพรให้รบกลับมาโดยปลอดภัย เกราะท้องของตัวละครชายมักเป็นรูปมังกร หญิงเป็นรูปหงส์และดอกโบตั๋น ตัวหน้าลายเพื่อแสดงถึงความน่าเกรงขาม มักจะทำเป็นรูปหัวเสือ
          สี : ตามบนล่างห้าสี มีการเลือกใช้สีชุดตามหลักเดียวกับชุดบรรดาศักดิ์ เช่น วาดหน้าดำใช้เกราะดำ วาดหน้าแดงใช้เกราะเขียว พระเอกวัยหนุ่มใช้เกราะขาว ฯลฯ
การปัก: ปักด้วยดิ้นทอง เพื่อยามโดนแสงไฟจะดูเหมือนแสงที่กระทบโลหะ ส่วนเกราะท้อง บ้างปักไหม บ้างปักดิ้นทองแล้วแซมด้วยไหม หากเป็นช่วงไว้ทุกข์ ใช้เกราะขาวที่ปักด้วยดิ้นเงิน

          ๓)  หมวดชุดคลุม
          การใช้งาน : ใช้กับราชวงศ์และผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ยามปกติ ไม่เป็นทางการ
          รูปแบบ : ปกใหญ่ยาวลงมา ดุมข้าง มีผ้าขาวต่อยาวจากชายแขนเสื้อ ผ่าข้างทั้งสองด้านของชุด ชุดชายยาวถึงหลังเท้า ชุดหญิงยาวเลยเข่านิดหน่อย ปักลวดลายด้วยดิ้นหรือไหมสีต่างๆ
          ที่มา : พัฒนามาจากชุดพิธีการของสตรีชั้นสูงในสมัยราชวงศ์หมิง  แต่เดิมแขนเสื้อพอดีแขน ช่วงปกเป็นแถบพาดยาวลงมา จนถึงในสมัยปลายราชวงศ์หมิง แขนเสื้อมีการพัฒนาให้กว้างขึ้น แถบปกลดความยาวให้สั้นลง
          จุดเด่น : ชุดนี้ถือได้ว่าเป็นชุดที่สวยงามด้วยความเรียบง่าย ปกสองด้านที่ยาวลงมาเว้นให้เห็นช่องว่างช่วงคอและชุดด้านใน ช่วงหน้าอกพัฒนาจากการติดดุมมาเป็นชายผ้าสองเส้นเล็กๆที่พริ้วตามการเคลื่อนไหว เหมาะสมกับเป็นชุดที่จะสวมใส่ยามพักผ่อน ไม่เป็นทางการของบรรดาผู้มีอันจะกิน เพราะชุดนี้นอกจากจะดูสมสถานภาพตัวละครแล้ว ยังสะดวกแก่การเคลื่อนไหวและร่ายรำ
          วัตถุดิบ : ผ้าต่วนหรือผ้าซาติน ชนิดหลังค่อนข้างจะนุ่มเบา
          ลวดลาย : ฮ่องเต้ใช้ลายมังกร ฮองเฮาและพระสนมใช้หงส์ ไทเฮาใช้มังกรและหงส์
นอกเหนือจากนั้นดูที่ตัวละคร บ้างดอกไม้ บ้างตัวอักษรมงคล ฯลฯ
          สี : ราชวงศ์ใช้สีเหลือง งานมงคลใช้สีแดง ผู้สูงอายุใช้สีเขียวขี้ม้า นอกนั้นดูที่ความเหมาะสม
          การปัก : ชุดสีเหลืองปักด้วยไหม สีอื่นๆจะปักเป็นไหมล้วนหรือปักไหมแล้วตัดเส้นด้วยดิ้นทองก็ได้

๔)  หมวดชุดลำลอง
          การใช้งาน: ใช้กับบัณฑิต จอมยุทธ์หรือชาวบ้านสามัญธรรมดา
          รูปแบบ: ปกเฉียง ดุมข้าง (สีข้างขวา) ชุดของผู้ชายยาวถึงเท้า ตัวเสื้อผ่าข้างทั้งสองด้าน แขนเสื้อกว้าง ต่อชายผ้าสีขาวยาว ชุดของผู้หญิง ดุมหน้า ปกตั้ง ชุดยาวเลยเข่าลงมาเล็กน้อย
          ที่มา : ชุดของชายพัฒนามาจากชุดลำลองในสมัยราชวงศ์หมิง ปกเฉียงแขนเสื้อกว้าง ชุดลักษณะนี้เป็นเอกลักษณ์ของชุดลำลองที่สืบทอดมานาน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังและซ่ง ส่วนของหญิงพัฒนามาจากรูปแบบเสื้อที่มีปกตั้งขึ้น ดุมหน้า ตัวสั้นค่อนข้างสั้น ชายไว้ในกระโปรง ในส่วนปกที่ตั้งขึ้นของชุด เพิ่งมานิยมกันมากในสมัยราชวงศ์หมิง เพื่อปกปิดส่วนคอให้ดูเรียบร้อย
          จุดเด่น : ชุดนี้นอกจะเป็นชุดลำลองแล้ว ยังมีสามารถใช้งานได้หลายอย่าง สามารถเป็นชุดที่สวมใส่ไว้ภายในก่อนสวมชุดบรรดาศักดิ์หรือชุดคลุมทับอีกที อีกทั้งตัวละครชายยังสามารถใส่โดยไม่ติดดุม เพื่อแสดงถึงอุปนิสัยที่เปิดเผย กล้าหาญ
          วัตถุดิบ : ผ้าต่วนใช้กับตัวละครหน้าลาย เพราะตัวผ้ามีน้ำหนัก เข้ากับลักษณะตัวละคร
นอกนั้นส่วนมากจะใช้ผ้าซาติน เพราะอ่อนเบา ดูเหมาะสมเป็นชุดลำลองอย่างแท้จริง
          ลวดลาย : มีการกำหนดเป็นแบบแผนไว้โดยยึดตามประเภทของตัวละคร
ตำแหน่งของลวดลาย บ้างปักเฉพาะมุมของชุด บ้างปักทั่วทั้งชุด หรืออาจไม่มีลายใดๆเลยก็ได้
          สี : ราชวงศ์ใช้สีเหลือง งานมงคลใช้สีแดง ผู้สูงอายุใช้สีเขียวขี้ม้า นอกนั้นดูที่ความเหมาะสม
          การปัก : จะปักเป็นไหมล้วนหรือปักไหมแล้วตัดเส้นด้วยดิ้นทองก็ได้

๕)  หมวดชุดอื่นๆ
          นอกเหนือจากชุด ๔ ประเภท คือ ชุดบรรดาศักดิ์ ชุดคลุม ชุดเกราะ ชุดลำลอง
ชุดงิ้วที่เหลือทั้งหมดจะจัดเข้าหมวดชุดอื่นๆ เพราะยากแก่การจัดประเภทได้อย่างชัดเจน
ซึ่งชุดเหล่านี้อาจจะแบ่งจัดเก็บในหีบเสื้อผ้าของชุด ๔ ประเภทในหีบใดหีบหนึ่งก็ได้
          ชุดในหมวดนี้จะแบ่งออกเป็น ๔ ประเภทย่อย คือ ชุดแบบยาว ชุดแบบสั้น ชุดแบบเฉพาะ และชุดอุปกรณ์เสริม
(ngiew.com,๒๕๕๒)
         ๑.๓  ทรงผมนางเอกงิ้ว
.         ทรงผมนางเอกงิ้ว แบ่งออกเป็น ๓ แบบหลักๆ 
 ๑)   ซวูต้าโถว
          เป็นแบบเกล้ามวยไว้ที่กระหม่อม ด้านหลังปล่อยผมยาว โดยแบ่งปอยสองปอยมาพาดไว้ด้านหน้า ความยาวของผมขึ้นอยู่กับประเภทตัวละคร ได้แก่ ชิงอี คือนางเอกที่เรียบร้อย จะผมยาวสุด
ฮวาตั้น คือนางเอกที่ต้องแสดงท่าทางมากก็อยู่ในระดับกลาง และอู่ตั้น คือนางเอกบู๊ ก็จะผมสั้นสุด
เพื่อให้เหมาะกับการเคลื่อนไหวอันคล่องแคล่วว่องไว


๒)  กู่จวงโถว
          ทรงผมประเภทนี้ สำหรับงิ้วปักกิ่งเหมยหลานฟางเป็นผู้คิดขึ้น โดยดัดแปลงมาจากภาพสาวงามต่างๆในสมัยโบราณ เพื่อใช้กับงิ้วเรื่องใหม่ๆที่แต่งกายด้วยชุดโบราณ แต่สำหรับคนไทยน่าจะชินตาอยู่แล้วกับทรงผมทรงนี้ เพราะนางเอกงิ้วแต้จิ๋วรวมถึงงิ้วในตอนใต้ที่เรียกกันว่า
花旦 (ฮวยตั่ว)
มักจะทำผมทรงนี้ ต่างกันแต่ขดผมด้านหน้าที่แตกต่างกันไป



          ๓) ฉีโถว
          ทรงผมแบบฉีโถว มีเฉพาะงิ้วบางประเภท โดยเฉพาะงิ้วปักกิ่งเพราะเป็นทรงผมแบบชาวแมนจู งิ้วทางเหนืออยู่ใกล้เมืองหลวงทำให้ได้รับอิทธิพลทรงผมเหล่านี้มาจากราชสำนักในสมัยราชวงศ์ชิง ตัวละครที่ทำผมทรงนี้ คือตัวละครต่างเผ่าทั้งหมดที่ไม่ใช่ ชาวฮั่น หากเป็นการแต่งแบบบู๊ ก็จะแต่งชุดเหมือนชาวฮั่น แต่พาดหางจิ้งจอกเพิ่มเติมลงไป เป็นนัยว่าเป็นชนต่างเผ่าที่นุ่งห่มด้วยขนสัตว์และอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวนั่นเอง


๔.๑.๔  หมวกงิ้ว
          ๑)  มงกุฎฮ่องเต้
          เป็นมงกุฎสำหรับฮ่องเต้ แบบในภาพสามารถสวมใส่ในโอกาสทั่วไป ยังมีอีกหลายแบบ เช่นมีพู่ห้อยบังหน้าหลังแบบจิ๋นซีฮ่องเต้ แล้วแต่ฉากในการแสดง


          ๒)  หมวกรัชทายาท
          เป็นหมวกสำหรับฮ่องเต้ที่ยังหนุ่มหรือรัชทายาท ด้านหลังติดหางไก่ฟ้า แสดงถึงผู้มีความสามารถในการต่อสู้ หรืออีกนัยคือผู้อยู่ในวัยหนุ่ม


          ๓)  มงกุฎหงส์
          เป็นมงกุฎสำหรับฮองเฮา กุ้ยเฟย รวมถึงสตรีชั้นสูง เช่น ท่านหญิง หรือ คุณหนูลูกเสนาบดีผู้ได้รับพระราชทานเกียรติยศเป็นพิเศษ มีทั้งแบบลายหงส์และผีเสื้อ


          ๔)  หมวกอัครเสนาบดี
          เป็นหมวกขุนนางระดับสูง มีลวดลายงดงาม เนื่องจากได้รับการดัดแปลงมาจากหมวกขุนนางธรรมดา


          ๕)  หมวกเทพเซียน
          เป็นหมวกสำหรับบรรดาเทพเซียน สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเป็นหมวกของเทพหรือเซียนคือโบสีแดงสองข้างสังเกตได้จากรูปปั้นเทพเจ้าตามศาลเจ้าก็จะมีโบสีแดงเช่นเดียวกันกับหมวกเซียน


          ๖)  หมวกแม่ทัพ
          หมวกสำหรับแม่ทัพ เช่น กวนอู


          ๗)  หมวกซีฉู่ป้าหวัง
          หมวกเฉพาะสำหรับฌ้อป้าอ๋อง ตัวละครนี้มีลักษณะพิเศษเหมือนกวนอู คือมีชุดและหมวกเป็นแบบฉบับของตัวเอง


          ๘)  หมวกผีเสื้อ
          หมวกสำหรับตัวละครหญิงที่มีความสามารถในการต่อสู้หรือกำลังเดินทางไกล ปกติจะถือแส้ม้าประกอบการแสดง


          ๙)  หมวกขุนนาง
          หมวกสำหรับขุนนางทั่วไป ช่วงปีกจะมีขนาดเล็กใหญ่และการประดับตกแต่งที่ต่างกันแล้วแต่ระดับสูงต่ำ


          ๑๐)  หมวกนางพญางูขาว
          หมวกสำหรับบทไป๋ซู่เจินหรือนางพญางูขาว สำหรับงูเขียวจะเป็นสีฟ้าเข้ม


          ๑๑)  หมวกนายทหาร
          หมวกสำหรับทหารที่มีระดับขึ้นมาเล็กน้อย ในบางครั้งพระเอกบู๊ก็สวมใส่ได้


          ๑๒)  หมวกพระเอกบู๊
          หมวกสำหรับพระเอกบู๊ ยามต่อสู้ลูกแก้วกำมะหยี่ด้านบนจะสั่นไหว ช่วยให้เกิดความสวยงาม


          ๑๓)  หมวกเจ็ดดารา
          หมวกสำหรับตัวละครแม่ทัพหญิง ที่มาของชื่อ เนื่องมาจากดาวเจ็ดดวง (ช่วงกระบังหน้า) และลูกปัดเจ็ดแถว


(ngiew.com,๒๕๕๒)
         ๑.๕  เครื่องประดับ
          ๑)  เครื่องประดับขนนก
          เครื่องประดับชุดนี้ แต่เดิมทำจากขนนกชนิดหนึ่ง ภาษาจีนเรียกว่า 翠鸟 (ชุ่ยเหนี่ยว)ดังนั้นการผลิตเครื่องประดับประเภทนี้จึงถูกเรียกว่า 点翠 (เตี่ยนชุ่ย) เป็นเครื่องประดับชั้นสูงที่ใช้ในวังมาแต่โบราณ รวมถึงสตรีชั้นสูง ทั้งชุดมีประมาณ 51 ชิ้นแต่ปัจจุบันนกชนิดนี้ใกล้สูญพันธุ์ จึงจัดเป็นสัตว์คุ้มครอง ห้ามล่าเพื่อนำขนมันมาทำเครื่องประดับอีกต่อไป ในวงการการแสดงงิ้วจึงใช้ผ้าไหมสีฟ้ามาแทนที่ขนนกดังกล่าว ในบางที่มีการในขนห่านหรือนกชนิดอื่นมาย้อมสีให้เหมือนแล้วใช้แทน แต่ก็ไม่สามารถแทนที่ได้ เพราะขนนกชนิดเดิมเป็นสีจากธรรมชาติ ไม่เปลี่ยนสีไปตามกาลเวลาเหมือนสีย้อม แต่จุดด้อยคือยากแก่การเก็บรักษา



       

   ๒)  เครื่องประดับอัญมณี
          เครื่องประดับประเภทนี้ ส่วนมากนิยมใช้คริสตัลแดงล้อมด้วยคริสตัลขาว แต่ยังมีสีอื่นๆ เช่น สีขาวล้วนใช้กับไป๋ซู่เจิน สีฟ้าใช้กับเสี่ยวชิง (งูเขียว) เครื่องประดับชุดนี้ ใช้กับตัวละครหญิงในครอบครัวฐานะปานกลาง ไม่แบ่งแยกนายหญิงหรือสาวใช้ ฯลฯ เครื่องประดับชุดนี้ทั้งชุดมีจำนวนชิ้นอยู่ที่ประมาณ 52 ชิ้น




          ๓)  เครื่องประดับเหล็ก
          เครื่องประดับประเภทนี้ ใช้กับตัวละครหญิงชาวบ้าน หญิงที่อยู่ในช่วงไว้ทุกข์ นักโทษหญิง ฯลฯ มักใช้ประกอบกับผ้าโพกศีรษะ เครื่องประดับชุดนี้ทั้งชุดมีจำนวนชิ้นอยู่ที่ประมาณ 55 - 60 ชิ้น





(ngiew.com,๒๕๕๓)

2 ความคิดเห็น:

  1. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุนมากคร้าบๆๆ ได้ความรุ้เยอะเลยยย 谢谢你给我很多信息, 很好读!!

    ตอบลบ