วันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2557

Chinese Opera : งิ้ว

ความหมาย

คำว่า งิ้ว ตามความหมายจากสารานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า งิ้ว ไว้ ว่า 
งิ้วเป็นมหรสพอย่างหนึ่งของจีน เล่นเป็นเรื่องเป็นราว มีการขับร้องและเจรจาประกอบท่าทางการแสดง” (ราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๐:๔๒๙๐)
(วีเกียรติ มารคแมน,๒๕๓๙)

ที่มาของคำว่า งิ้ว

พรพรรณ จันทโรนานนท์ (๒๕๓๗:๕-๖) กล่าวว่า หากจะสืบหาความเป็นมาของคำว่า งิ้ว ในภาษาไทยแล้ว ไม่ปรากฏคำไทยคำใดที่มีทั้งเสียงและความหมายใกล้เคียงกันพอที่จะสืบค้นประวัติของคำนี้ได้เลย แต่เมื่อพิจารณาคำว่า งิ้ว ว่า เป็นการแสดงของชาวจีน คำว่า งิ้ว น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากภาษาจีน การแสดงที่ไทย เรียกว่า งิ้ว ในภาษาจีน มีคำเรียกถึงสามคำ ออกเสียงเป็นภาษาแต้จิ๋วว่า หี่ เกี๊ยะและอิว (ใช้ในความหมายว่า นักแสดงงิ้ว) เมื่อนำทั้งสามคำมาเปรียบเทียบกับการออกเสียงของภาษาจีนกลุ่มต่างๆ ได้ผลปรากกฎดังตารางต่อไปนี้

คำอ่านภาษา
/ (หี่)
/ (เกี๊ย)
/ (อิว)
จีนกลาง
ซี่
จวี้
อิว
แต้จิ๋ว
หี่
เกี๊ย
อิว
กวางตุ้ง
เฮย
เค็ก
ยาว
ไหหลำ
ฮี๋
กี้
อิว
ฮกเกี้ยน
หี่
โก๊ยะ
อิว
แคะ
ฮี้
เกี่ยก
ยิว


ถาวร สิกขโกศล (๒๕๓๗:๔-๕กล่าวว่า คำว่า อิว ในยุคโบราณ หมายถึง การเล่นตลกให้หัวเราะ ไผอิว หมายถึงนักแสดงตลก ไผอิว เป็นต้นธารสำคัญสายหนึ่งของงิ้ว ภายหลังคำว่า อิว จึงหมายถึง นักแสดงงิ้ว
          ล.เสเถียรสุต (ม.ป.ป.:๑๖๒) กล่าวว่า คำว่า งิ้ว ไม่ทราบว่า เป็นมาอย่างไร ภาษาแต้จิ๋ว เรียก งิ้ว ว่า หี่ ภาษากลางเรียกว่า ซี่
          คุณถ่องแท้ รจนาสันต์ สันนิษฐานว่า มาจากคำว่า อิว ในภาษาแต้จิ๋ว แต่ชาวแต้จิ๋ว ไม่นิยมช้ำว่า อิว นอกจากภาษาหนังสือจากบันทึกท้องถิ่นของอำเภอ กิ๊กเอี๊ย (อำเภอหนึ่งของเมืองแต้จิ๋ว) ใช้คำว่า ไป่อิว ในความหมายว่า งิ้ว ดังปรากฎข้อความที่ขุนนางผู้หนึ่งได้บันทึกไว้ว่า ไป่อิว (งิ้ว) เป็นเรื่องของคนชั้นต่ำไม่ควรมีไว้ในบ้าน (เหี่ยหยู่ปิงและคนอื่นๆ (๑๙๙๕:))
          ในหนังสือโบราณของจีน มีคำว่า อิวปรากฎอยู่หลายเล่ม ในเส่งงื้อกู้สื่อ บันทึกว่า อิวมึ่ง    (อิวเม่ง-แต้จิ๋ว) เป็นคนแสดงละครเก่ง มีชีวิตอยู่ในสมัยชุนชิว (ประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าปี ก่อน) ในสมัยนั้นพระเจ้าฉู่จงอ๋วงมีมุขมนตรีที่ปราดเปรื่อง มีนามว่า ซุนสูเอ๋า มุขมนตรีซุนสูเอ๋า ผู้นี้ได้ช่วยปกครองบ้านเมืองจนเพื่องฟู จนซุนสูเอ๋าตายไป พระเจ้าฉู่จงอ๋วงก็ลืมซุนสูเอ๋าเสียสิ้น
          อิวมึ่ง เป็นผู้มีวาทะศิลป์ ปัญญาฉลาดล้ำเลิศ จิตใจดีงามเห็นอกเห็นใจผู้คน เขากับซุนสูเอ๋าเป็นเพื่อนรักกัน ซุนสูเอ๋าเมื่อป่วยหนักก่อนตายได้บอกกับลูกของเขาว่า หลังพ่อตายแล้ว ลูกๆคงลำบากยากจนมาก เจ้าจงไปหาอิวมึ่งบอกเขาว่า เจ้าเป็นลูกพ่อ หลังซุนสูเอ๋าตาย ไม่มีสมบัติใดใดให้ลูก ลูกได้แต่หาฟืนเลี้ยงชีพ แบกฟืนไปขายในตลาด
          วันหนึ่งจึงได้พบอิวมึ่งในตลาด จึงได้เล่าถึงชีวิตอันแร้นแค้นให้อิวมึ่งฟัง อิวมึ่งว่า เจ้าอย่าไปไหนไกลนัก เพราะเจ้าฉู่จงอ๋วงจะหาเจ้าไม่พบ อิวมึ่งกลับมาบ้าน  รีบเอาเศษผ้าและหมวกของซุนสูเอ๋ามาแต่ง ฝึกกริยาว่าจาท่าทางของซุนสูเอ๋า ทำเช่นนี้อยู่ทุกวันจนเวลาผ่านไปปีกว่า จนในที่สุดอิวมึ่งสามารถแสดงได้เหมือนซุนสูเอ๋าตัวจริง
          ครั้งหนึ่งฉู่จงอ๋วงจัดงานเลี้ยงข้าราชการ อิวมึ่งแต่งตัวเป็นซุนสูเอ๋าเข้าไปถวายสุรา ฉู่จงอ๋วงตกใจมากที่เห็นใครคนนั้นมีลักษณะท่าทางวาจาเป็นคนเดียวกับซุนสูเอ๋า จึงนึกอยากได้เป็นมุขมนตรี และได้เอ่ยทาบทามไป แต่อิวมึ่งในคราบซุนสูเอ่า กราบทูลปฎิเสธว่า "ภรรยาของข้าพระองค์กำชับนักหนาว่า ไม่ให้ข้าพระองค์รับราชการ นางบอกว่า ดูขนาดซุนสูเอ๋า ที่แสนจะซื่อสัตย์จงรักภักดีปานนั้น  ช่วยเมืองฉู่จนเป็นมหาอำนาจได้ แต่บัดนี้ เมื่อตายไป ลูกของท่านแม้แต่พื้นดินเท่าฝ่าเท้ายังไม่มีให้ยืนหยัด ต้องอาศัยเข้าป่าหาฟืนขายประทังชีวิต ถ้าเจ้าคิดจะรับราชการ เจ้าจงไปตายเสียดีกว่า" ว่าแล้ว อิวมึ่ง นักแสดงก็ร้องเพลงปรียบเปรยเย้ยความไร้น้ำใจของฉู่จงอ๋วง ทำให้ฉู่จงอู๋วงสะเทือนใจยิ่งนัก จึงรีบบัญชาให้ตามบุตรของซุนสูเอ๋าให้เข้าเฝ้า แล้วยกที่ดินผืนใหญ่ให้ มีอาณาเขตกว้างไกลถึง ๔๐๐ หลังคาเรือน ให้เป็นที่ทำกินของบุตรชายซุนสูเอ๋า
          เรื่องราวนี้เป็นที่เลื่องลือไปทั่วในความสามารถของอิวมึ่ง จนผู้คนต่างติดปากเรียกนักแสดง ว่า อิว
          คำว่า อิว จึงมีที่มาจากชื่อ ของ อิวมึ่ง
          คำว่า งิ้ว จึงสันนิษฐานได้ว่า มาจากคำว่า อิว
(วีเกียรติ มารคแมน,๒๕๓๙)


ความเป็นมาของงิ้ว

          งิ้ว เป็นศิลปะการแสดงที่เกิดขึ้นมานาน ๕,๐๐๐ ปีเริ่มต้นจากช่วงรัชสมัยราชวงศ์จิว ซึ่งมีการผสมผสานการขับร้องและการเจรจาประกอบกับลีลาท่าทางของนักแสดงให้ออกเป็นเรื่องเป็นราว โดยนำเหตุการณ์ต่างๆ ในพงศาวดารและประวัติศาสตร์มาดัดแปลงเป็นบทแสดง นอกเหนือไปจากพงศาวดารและประวัติศาสตร์แล้ว เรื่องของความเชื่อ  ประเพณี  และศาสนาก็เป็นสิ่งที่ผสมผสานอยู่ในการแสดงงิ้ว” ด้วยเช่นกัน ในยุคสมัยนั้นยังไม่มีแบบฉบับโดยเฉพาะ จึงมีผู้แสดงเพียงไม่กี่คน และมีการแสดงเป็นเรื่องสั้นๆ  
          งิ้ว เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซ้องประมาณปีค.ศ.๑๑๗๙-๑๒๗๖ ทางภาคใต้ของจีนมีคณะงิ้วที่มีชื่อได้เปิดการแสดงที่มีบทพูดเป็นโคลงกลอนสลับกับการร้อง ใช้เครื่องดีดสีตีเป่าเป็นดนตรีประกอบการแสดง..ในยุคนั้นยังไม่มีรูปแบบในการแสดงที่ชัดเจน ใช้ผู้แสดงแค่ไม่กี่คน จึงมีการแสดงเป็นเรื่องสั้นๆเพียงเท่านั้น
          ทางภาคเหนือนั้น ราวช่วงต้นศตวรรษที่ ๑๓ พวกชนเผ่ามองโกลสร้างรูปแบบของงิ้วขึ้นมาเรียกว่า "ซาจู" โดยมักแบ่งการแสดงออกเป็น ๔ องค์ โดยตัวละครเอกเท่านั้น ที่จะมีบทร้องเป็นทำนองเดียวตลอดเรื่อง ส่วนตัวประกอบอื่นอาศัยการพูดประกอบขณะที่อุปรากรฝ่ายเหนือเป็นที่นิยมในหมู่ขุนนางชั้นสูง ทางใต้นั้นผู้คนนิยมดูงิ้วที่มีเนื้อหาเป็นเรื่องเล่าพื้นบ้าน
          ในศตวรรษที่ ๑๖ บ้านเมืองเข้าสู่ความสงบ ผู้คนเริ่มมีฐานะและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้วงการวรรณกรรมเฟื่องฟูไปด้วย ซึ่งส่งผลทำให้บทร้องอุปราการสละสลวยยิ่งขึ้น โดยนายเหว่ย เหลียงฟุ (๑๕๒๒-๑๕๗๓) นำนิยายพื้นบ้านดังๆเรียกว่า "คุนฉู" มาเขียนเป็นบทร้อง มีสไตล์การร้องอ่อนหวาน ใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้นส่วนใหญ่คือกลองและขลุ่ยไม้
          วิวัฒนาการของงิ้ว ยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาและมาเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในสมัยของเฉียนหลงฮ่องเต้ ประมาณปีค.ศ.๑๗๓๖-๑๗๙๖ ในศตวรรษที่ ๑๘ เกิดอุปรากรแบบใหม่ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นรูปแบบของงิ้วปัจจุบัน อุปรากรดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายนับตั้งแต่เปิดการแสดงในงานฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพของเฉียนหลงฮ่องเต้ ในจำนวนคณะงิ้วที่เข้ามาแสดงเหล่านี้รวมถึงคณะของนายเว่ย จางเฉิน จากเสฉวน ซึ่งนำเทคนิคการแสดงงิ้วแบบใหม่ๆเข้ามาเผยแพร่ในเมืองหลวงกระทั่งปลายราชวงศ์ชิง งิ้วจึงมีลักษณะต่างๆกันออกไปหลายร้อยแบบ ทั้งในด้านการร้อง การจัดฉากเพลง แต่ส่วนใหญ่นำเนื้อเรื่องมาจากคุนฉู หรือนิยายที่เป็นที่นิยม และอุปถัมภ์คณะงิ้วกันมากขึ้น การแสดงงิ้วจึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไปจนทั่วประเทศจีน  

                   งิ้วที่ยอมรับกันว่าเป็นงิ้วที่สมบูรณ์แบบชนิดแรกคือ ละครใต้ (หนันซี่)ของสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ แถบเมืองเวินโจว จนกระทั่งสมัยราชวงศ์ชิง จึงเกิด ‘งิ้วปักกิ่ง’ ซึ่งถือได้ว่าเป็นศิลปะประจำชาติ และมีความโดดเด่นมาก เพราะเป็นการแสดงที่เอาความเด่นของงิ้วทุกชนิดมารวมเข้าด้วยกัน มีการแสดงที่โลดโผนกว่างิ้วแต้จิ๋ว มีการร้องโอเปร่า ร้องลากเสียงเพื่อแสดงพลังเสียง และมีการใช้เสียงบีบเพื่อแสดงศิลปะการใช้เสียงที่หลากหลายด้วย
           สมัยของพระนางซูสีไทเฮา ก็เป็นอีกยุคหนึ่งที่การแสดงงิ้วรุ่งเรืองสุดขีดเช่นกัน...เพราะพระนางซูสีไทเฮาทรงโปรดปรานการแสดงงิ้วมาก การแสดงงิ้วในเมืองจีนถือว่าได้รับความนิยมสูงสุดแต่แล้ว “งิ้วก็มีอันต้องลดบทบาทลง ภายหลังจากที่พระนางซูสีไทเฮาและพระเจ้ากวงสูสวรรคต เพราะแต่เดิมนั้นการแสดงงิ้วจะเป็นมหรสพที่หาชมได้เพียงในพระราชวัง หรือ ในตระกูลของผู้สูงศักดิ์เท่านั้น เมื่อการสนับสนุนของงิ้วในราชวงศ์ลดลงบรรดาคณะงิ้วต่างๆจึงต้องออกมาแสดงตามสถานที่ต่างๆเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ และถือเป็นก้าวแรกที่การแสดงงิ้วได้รับการถ่ายทอดออกมาสู่สามัญชนจนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และสุดท้ายก็ได้แพร่ขยายออกไปสู่ประเทศต่างๆทั่วโลก

(ngiew.com,๒๕๕๑)

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น