วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557

Chinese Opera in Thailand : งิ้วในประเทศไทย

๑.  การเข้ามาของงิ้วในประเทศไทย

          งิ้วเป็นการละเล่นที่มาคู่กับชาวจีน ที่ใดที่มีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นกลุ่มชนใหญ่แล้ว จะต้องมีการว่าจ้างการละเล่นชนิดนี้ทุกที่ไป ชาวจีนนั้นเป็นผู้ที่ยึดถือในประเพณีวัฒนธรรมและความเชื่อแห่งศาสนาดั้งเดิม อย่างเคร่งครัด แม้จะอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งใหม่และมีสิ่งแวดล้อมใหม่  การปฏิบัติอันเนื่องมาแต่ความยึดมั่นดังกล่าวก็ยังคงปฏิบัติต่อไป
          หลักฐานสำคัญที่ยืนยันคำกล่าวข้างต้น คือ การก่อสร้างศาสนสถานของชาวจีนเพื่อปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา ศาสนสถานของชาวจีนกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือศาลเจ้านั่นเอง และการเข้ามาสู่เมืองไทยของงิ้วในระยะแรก คงเข้ามาพร้อมกับ การตั้งศาลเจ้าขึ้นในเมืองไทย มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งบอกว่า คนไทยเรารู้จัก “งิ้วมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนกลาง นั่นคือ บันทึกรายวันเป็นจดหมายเหตุ การเดินทางสู่ประเทศสยามของบาทหลวงเดอ ชัวสี ตาซารต์ ทูตพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ในคราวที่ติดตาม มองซิเออร์ เลอ เชอวาเลีย เดอโชมองต์ เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ.  ๒๒๒๘ (สันต์ ท. โกมลบุตร ๒๕๑๘๔๑๕-๔๑๗ )  เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยใน สมัยพระนารายณ์ ว่าได้ชมการแสดงงิ้วและพอใจเป็นอันมาก ในบันทึกนั้น เรียกการแสดงของชาวจีน ซึ่งจัดขึ้นในทำเนียบของ มองซิเออร์กองสตังซ์ ว่า Commedie a la Chinoife และ Une tragedie Chinoife ซึ่งแปลรวมความว่า “ละครจีน
                   และบันทึกของ ลาลูแบร์อัครราชทูตฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ (A.P.Gen.R.S.S. :๔๗หรือราว ๓๑๙ ปี ก็ชื่นชมการแสดงงิ้วดังกล่าวด้วย และเรียกการแสดงชนิดนี้ว่า “A ChinefeComedy”ซึ่งมีความหมายโดยรวมว่า “ละครจีน” เช่นกัน
                   ในสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่มีหลักฐานใดที่บ่งบอกถึงที่มาของชื่อการแสดง “งิ้วอย่างแน่ชัด และอาศัยหลักฐานของประเทศจีนพอสรุปได้ว่า งิ้วที่เข้ามาแสดงในสยามเมื่อสมัยอยุธยานั้นเข้าใจว่าเป็นงิ้ว  ชนิด คือ งิ้วไซฉิ้ง งิ้วงั่วกัง งิ้วเจี่ยอิม งิ้วแป๊ะหยี่
                   เหตุที่กล่าวดังนี้เพราะใน สมัยต้นราชวงศ์ชิงนั้น (เดอชัวสี เดินทางเข้ามาสยาม ปี ค.ศ. ๑๖๘๕-๑๖๘๖ ซึ่งตรงกับ รัชสมัยของพระเจ้าคังซี ค.ศ. ๑๖๖๒-๑๗๒๒ เป็นสมัยที่ งิ้วแต้จิ๋ว ยังอยู่ระหว่างวิวัฒนาการ ยังไม่เจริญเต็มที่ งิ้ว ๔ ชนิดนี้ได้แพร่กระจายเข้าสู่ดินแดนทางตอนใต้ของจีนโดยทั่วไปตั้งแต่ปลายราชสมัยราชวงศ์หมิง
                   จนกระทั่งถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระเจ้ากรุงธนบุรี การแสดงงิ้วเป็นที่นิยมและแพร่หลายมาก อาจเพราะพระองค์มีเชื้อสายจีนซึ่งเป็นยุคที่มีชาวจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทยมากขึ้น ชาวไทยกับชาวจีนเริ่มใกล้ชิดกันมากขึ้นในสมัยนี้ มีหลักฐานบันทึกชื่อเรียกของการแสดงว่า “งิ้วนั้นเกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี จากการบันทึกของ กรมหลวงนรินทรเทวี ดังในหลักฐานเมื่อครั้งที่พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดฯให้จัดขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ เพื่ออัญเชิญพระแก้วมรกต ซึ่งล้นเกล้ารัชกาลที่ ๑ เมื่อครั้งดำรง พระยศเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงยกทัพไปตีเวียงจันทน์และทรงอัญเชิญลงมาด้วย ซึ่งในขบวนแห่นอกจากจะมีโขน ละคร ดนตรีปี่พาทย์ แล้ว ยังมีหมายรับสั่งให้มี “งิ้วไปแสดงในเรือด้วย โดยมีข้อความว่า “งิ้วลงสามป้าน พระยาราชาเศรษฐีหนึ่ง หลวงรักษาสมบัติหนึ่ง” รวมมี “งิ้ว” ด้วยกันถึง ๒ ลำ
                   ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระนิพนธ์เรื่อง อิเหนาของพระองค์ ตอน อภิเษกพระราชบุตรและพระราชธิดาสี่พระนครนั้น หลังเสร็จพิธีอภิเษกแล้วได้มีมหรสพฉลองเป็นงานเอิกเกริก และ คำว่า “งิ้ว” ซึ่งหมายถึง ละครจีน เช่นกัน
                   แม้กระทั่งเจ้านายหลายพระองค์ถึงกับมีคณะงิ้วส่วนพระองค์ คนไทยนิยมงิ้วเป็นอย่างมากจนสามารถฟังเสียงกลองก็รู้ว่า งิ้วจะเล่นเรื่องอะไร นอกจากนี้ยังตั้งชื่อ เรียกงิ้วประเภทต่างๆ ตามเสียงกลอง เสียงฆ้องที่ได้ยินอีกด้วย เช่น งิ้วตุ้งแต งิ้วตุ้งโข่ง งิ้วต๊กเก็ง งิ้วต๊กแช่ (พระสันทัดอักษรสาร ๒๔๖๗ : ๑-๑๐)
          แม้กระทั่งคำว่า งิ้ว ก็ไม่ใช่ภาษาจีน แต่เป็นคำที่คนไทยเรียกขึ้นเอง ที่มาของคำว่า งิ้วสันนิษฐานว่า เป็นคำที่กลายเสียงมาจากภาษาจีนโบราณที่เรียกการแสดงนี้ คำจีนที่เรียกงิ้วในปัจจุบันไม่มีคำใดที่ออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า งิ้ว ในภาษาไทยเลย เช่น แต้จิ๋ว : หี่ , ไหหลำ : ฮี๋ , กวางตุ้ง :  เฮย , แคะ : ฮี้ , ฮกเกี้ยน : ฮี่ , จีนกลาง : ซี่ (พรพรรณ จันทโรนานนท์ ๒๕๒๖:๑๗)  เหตุผลต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งยืนยันได้ว่า งิ้วมีอยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน และเคยเป็นที่นิยมอย่างมาก
          *** คำว่า งิ้ว ตามความหมายจากสารานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า งิ้ว ไว้ว่า งิ้ว เป็นมหรสพ อย่างหนึ่งของจีน เล่นเป็นเรื่องเป็นราว มีการขับร้องและเจรจาประกอบท่าทางการแสดง (ราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๐:๔๒๙๐)
                   ต่อมางิ้วแต้จิ๋วเริ่มเจริญอย่างแท้จริงในสมัยพระเจ้ากวงสู (ค.ศ. ๑๘๗๕-๑๙๐๘ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่  ของไทยเรา งิ้วแต้จิ๋วเริ่มเดินทางมาแสดงในเมืองไทย และออกมาแสดงยังต่างประเทศมากขึ้นหลังจากสิ้นยุคพระนางซูสีไทเฮา และพระเจ้ากวงสู
                   ในฟื้นความหลังของท่านเสถียร โกเศศ กล่าวถึงงิ้วในกรุงเทพฯ สมัยนั้นว่า นอกจากมี งิ้วสั่งถัง งิ้วไซฉิ้ง งิ้วงั่วกัง แล้วยังมีงิ้วเด็กซึ่งหมายงิ้วแต้จิ๋ว  ซึ่งในยุคแรกนั้นก็ว่าจ้างมาจากเมืองจีน นักแสดงยังเป็นชาวจีน ในเมืองจีน ต่อเมื่องิ้วได้รับความนิยมมากขึ้นในเมืองไทย จึงมีนักแสดงที่เป็นชาวจีนเกิดในเมืองไทย
                   คุณสงวน อั้นคง กล่าววา สมัยที่คนไทยนิยมงิ้ว ก็คือ สมัยรัชกาลที่  ซึ่งเจ้านายบางพระองค์มีงิ้ว ในครอบครองตั้งแต่ ๒-๓ โรงก็มีขุนพัฒน์ (แหยม) มีงิ้วถึง ๔-๕ โรง ที่มีผู้จำได้คือโรงหนึ่งยี่ห้อ เง็กเม่งเฮียงตัวงิ้วเป็นชายที่เกิดในเมืองไทยทั้งโรง อีกโรงหนึ่งตัวงิ้วเป็นหญิงเกิดในเมืองไทยทั้งโรงเหมือนกัน
                   ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในสมัยรัชกาลที่  คงมีโรงสอนงิ้วหลายโรง คณะงิ้วหลายคณะและตัวแสดงนั้นก็เป็นชาวจีนซึ่งเกิดในเมืองไทยด้วย  แม้จะมีงิ้วที่ฝึกหัดจากเมืองไทย แล้วก็ตาม ชาวจีนก็ยังคงนิยมว่าจ้างงิ้วจากเมืองจีนให้มาแสดงในงานประจำปีเสมอ โดยกล่าวกันว่างิ้วในเมืองไทยไม่ได้มาตรฐานเท่างิ้วในเมืองจีน ทั้งในด้านลีลาการร่ายรำ และเสียงร้อง ดังนั้น งิ้วจากเมืองจีนจึงได้รับการว่าจ้างเป็นประจำอยู่เสมอ การว่าจ้างก็มิได้เป็นเรื่องยุ่งยากแต่อย่างใด เริ่มจากคณะงิ้วในเมืองจีนได้แจ้งความประสงค์มายังพ่อค้าใหญ่ โดยยื่นข้อเสนอบางประการรวมทั้งระยะเวลาในการแสดง หากเป็นที่พอใจ ทั้งสองฝ่ายก็เซ็นสัญญาตกลงกันได้โดยทั่วไปแล้วมักทำสัญญาว่าจ้างกันเป็นระยะเวลา  เดือนค่าใช้จ่ายของคณะงิ้วที่จะได้รับจากผู้ว่าจ้างประมาณเดือนละ ๒-๓ พันบาท
(ngiew.com,๒๕๕๑)

๒.  งิ้วบนจิตรกรรมฝาผนัง

          เมื่อเอ่ยถึงอุปรากรจีนหรืองิ้ว เราย่อมนีกถึงภาพนักแสดงหน้าตามีสีสันบ่งบอกถึงลักษณะและอุปนิสัย ศิราภรณ์แพรวพราวล้อแสงไฟ เครื่องแต่งกายที่ย้อนยุคกลับไปหาอดีต บ่งชี้ถึงสถานภาพทางสังคมของผู้สวมใส่ เสียงดนตรีดังกระหึ่ม ลีลาการเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่วไปตามจังหวะดนตรีของตัวแสดงพร้อมกวัดแกว่งอาวุธไปมา เฟอร์นิเจอร์ประดับฉากมีเพียงโต๊ะและเก้าอี้ที่ใช้ประโยชน์ได้อเนกประสงค์
          อุปรากรจีนเป็นมหรสพที่ชาวจีนทุกระดับชั้นชื่นชอบ ตั้งแต่จักรพรรดิลงมาจนถึงสามัญชน
ชาวจีนอพยพหรือพ่อค้าที่เดินทางไปมาค้าขายในเมืองไทยคงจะนำงิ้วจีนเข้ามาเผยแพร่ด้วย แต่จะเข้ามาตั้งแต่เมื่อใดยังไม่เป็นที่ประจักษ์แน่ชัด
          จดหมายเหตุคณะทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) ได้บันทึกไว้ว่า ราชสำนักไทยได้จัดอุปรากรจีนให้ชม จึงน่าจะเป็นหลักฐานว่าชาวไทยรู้จักอุปรากรจีนมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว
          ความนิยมอุปรากรจีนเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แปลวรรณกรรมจีนเรื่องสามก๊ก เป็นภาษาไทย จนแพร่หลายมากในหมู่เจ้านายและขุนนางไทย
          นอกจากเรื่อง สามก๊ก แล้ว ยังมีการแปลวรรณกรรมจีนอื่นๆ ตามมาอีกหลายเรื่อง แต่อุปรากรจีนก็มักเล่นเรื่อง สามก๊ก ดังนั้น สามก๊ก จึงกลายเป็นมหรสพที่ชาวไทยคุ้นเคยไปด้วย
          มีหลักฐานหลายอย่างสนับสนุนรสนิยมชาวไทยที่ชื่นชอบงิ้วจีน ในบรรดาสินค้านำเข้าจากเมืองจีน ในช่วงรัชกาลที่ ๑๓ มีชุดงิ้วเข้ามาขายมากถึง ๕๐๐ ชุด
          นอกจากนี้ บนจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ ที่เขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จะเห็นว่าฉากสงครามมักมีตัวแสดงงิ้วปรากฏสอดแทรกอยู่เสมอ เช่นที่อุโบสถวัดบางยี่ขัน วัดเวฬุราชิน กรุงเทพฯ บางวัดก็ปรากฏเต็มฝาผนัง เช่น ที่พระอุโบสถวัดนางนอง วัดประเสริฐสุทธาวาศ กรุงเทพฯ เป็นต้น 
      หลักฐานเหล่านี้แสดงถึงความนิยมงิ้วจีนทั้งของชาวไทยและชาวจีนอพยพ
          การให้ความสำคัญต่ออุปรากรจีน ยังมีหลักฐานสำคัญรองรับบนจิตรกรรมฝาผนังด้านตะวันตกที่หอไตร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ด้วย
หอพระไตรปิฎก วัดสระเกศฯ แลเห็นเจดีย์ภูเขาทอง (บรมบรรพต) ทางด้านขวา

         ๒.๑  จิตรกรรมฝาผนังที่หอพระไตรปิฎกวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

      หอพระไตรปิฎกหรือหอไตร  กล่าวกันว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ จุดเด่นอยู่ที่จิตรกรรมฝาผนังด้านนอกซึ่งเขียนลายกำมะลอ เป็นภาพปราสาท วิมาน กษัตริย์ หญิงชาววัง กุมาร ทหาร  และภาพชีวิตชาวบ้าน มีอาคารแบบจีนและชาวจีนปะปนอยู่บ้างเพียงเล็กน้อย ยกเว้นฝาผนังด้านทิศตะวันตกเขียนลวดลายกระบวนจีนเต็มพื้นที่ ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเป็นกรณีศึกษาในครั้งนี้
          จิตรกรรมฝาผนังด้านตะวันตกแบ่งออกเป็นสองด้าน คือด้านซ้ายและด้านขวา มีกรอบหน้าต่างโค้งหยัก บานหน้าต่างเขียนลายรดน้ำปิดทองรูปทหารฝรั่งเป็นตัวแบ่ง
          องค์ประกอบภาพทั้งสองด้าน ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลทั้งชายและหญิงกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ นับได้ร่วมร้อยคน ภายในกำแพงมีผู้หญิงเกือบ ๕๐ คน ส่วนกลุ่มผู้ชายมีประมาณ ๒๗ คน (เมื่อเทียบกับผู้หญิงแล้วน้อยกว่ากันครึ่งต่อครึ่ง) ต่างกำลังทำกิจกรรมต่างๆ กัน มีอาคารบ้านเรือนคล้ายแบบจีน มีลานโล่ง สวนหลังบ้าน
          ส่วนนอกกำแพงเป็นทิวทัศน์ชายหาดยาวเหยียด เรือสำเภาหัวแดงลอยลำอยู่ในทะเล มีผู้คนอีกกว่าสามสิบคน
          การวางภาพ แบ่งออกเป็นสามฉาก คือ ฉากสวนหลังบ้าน ฉากลานโล่งชั้นในและชั้นนอก (หมายถึงลานโล่งกลางบ้านและลานโล่งด้านหน้า) และฉากชายหาด
กรอบหน้าต่างโค้งหยักและบานหน้าต่างเขียนลายรดน้ำปิดทองรูปทหารฝรั่ง

          ๑)  ฉากสวนหลังบ้าน

บ้านชาวจีนที่มีฐานะดีจะมีสวนหลังบ้านสำหรับเป็นที่พักผ่อนส่วนตัวของผู้อาวุโสและผู้หญิงในบ้าน ฉากสวนหลังบ้านบนจิตรกรรมฝาผนังด้านซ้ายและขวาประกอบด้วยกลุ่มบุคคลทั้งหญิงและชาย



          ผู้หญิงที่นั่งเก้าอี้ในสวนหลังบ้านและในลานโล่งชั้นกลาง แม้จะมองไม่เห็นรายละเอียดของเครื่องแต่งกายอย่างชัดเจน นอกจากชุดยาวที่สวมใส่ แต่หมวกทรงสูงด้านหลังยกเป็นกระบัง แต่งร้อยด้วยลายเส้นสีทอง แลดูคล้ายศิราภรณ์ของสตรีสูงศักดิ์ ภาพผู้ชายที่คุกเข่าอยู่เบื้องหน้า ชี้บ่งว่าทั้งสามอาจเป็นบุคคลสำคัญในภาพ ซึ่งผู้เขียนตั้งข้อสันนิษฐานไว้เป็นสามประเด็น คือ
          ประเด็นที่หนึ่ง เธอทั้งสามอาจเป็นภริยาเจ้าของหรือหัวหน้าคณะอุปรากรจีน หรืออาจเป็นตัวแทนนักแสดงกระทำพิธีเซ่นไหว้ หรือเป็นบุคคลสำคัญในคณะนักแสดง ข้อสันนิษฐานประการหลังนี้พิจารณาจากศิราภรณ์ที่เธอสวมใส่ ซึ่งแลดูคล้ายตัวบุคคลสำคัญในอุปรากรจีน
          เป็นที่ทราบกันว่าเครื่องแต่งกายของผู้แสดงอุปรากรจีนอาจเลียนแบบเครื่องทรงขององค์จักรพรรดิหรือขุนนางจีนระดับสูงในอดีตได้ น่าเสียดายที่มองเห็นเครื่องแต่งกายไม่ชัดเจน จึงไม่อาจบ่งบอกอะไรได้มากไปกว่านี้
          ประเด็นที่สอง เธออาจเป็นร่างสมมติของเทพธิดามาจู่ (ราชินีแห่งสวรรค์/เทียนเหอ) เทพธิดาแห่งลัทธิเต๋า ผู้มีหน้าที่คุ้มครองคนเดินทะเลให้แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง และเป็นที่เคารพสักการะในกลุ่มผู้อพยพและคนเดินเรือมาก ก่อนจะออกเดินทางจำเป็นต้องกระทำพิธีบูชาและเซ่นไหว้มาจู่เพื่อขอพร มีนักดนตรีเล่นดนตรีเห่กล่อม และทุกคนที่เข้าพิธีต้องแต่งตัวสวยงามและแห่เจ้าแม่ไปศาล ตอนบนของภาพในฉากลานโล่งหน้าบ้านก็ปรากฏภาพผู้ชายกำลังหามสัตว์เหมือนกับจะนำมาเข้าพิธีด้วย และหลังจากพิธีเซ่นไหว้แล้วก็สามารถรับประทานอาหารที่เซ่นไหว้ได้ ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ในภาพที่ปรากฏโต๊ะอาหาร 

          ประเด็นที่สาม ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า ภาพที่ปรากฏในจิตรกรรมลายกำมะลอนี้อาจแสดงให้เห็นคณะอุปรากรจีนอย่างน้อยสองคณะที่เดินทางมาถึงพร้อมกัน เหตุการณ์ทำนองนี้อาจเคยเกิดขึ้นจริงในกรุงเทพฯ ยุคนั้น เมื่อมีใบสั่งของชนชั้นสูงที่ต้องการจัดแสดงมหรสพในงานพระราชพิธีสำคัญ หรืออาจเป็นใบสั่งของพ่อค้าและคหบดีชาวจีนที่เรียกคณะงิ้วมาจัดแสดงในงานฉลองวาระครบรอบวันเกิด งานแซยิดของตนเอง หรือของผู้เป็นที่เคารพนับถือก็เป็นได้ ดังนั้น จึงต้องมีการเซ่นไหว้เทพเจ้าแห่งการละคร เหมือนการไหว้ครูก่อนการแสดงนั่นเอง ในภาพจิตรกรรมที่เห็นนี้ จึงแสดงให้เห็นบรรดานักแสดงต่างกำลังพักผ่อนหลังเสร็จสิ้นพิธี

          เครื่องเรือนในฉากสวนหลังบ้านนี้ มีเพียงโต๊ะเตี้ยและเก้าอี้ บนโต๊ะด้านขวามีกระถางธูป และผอบตั้งอยู่เหมือนกับเพิ่งเสร็จสิ้นการเซ่นไหว้ ภาพทางด้านซ้าย ยังมีเก้าอี้มีพนัก ๔ ตัว เก้าอี้กลม ๒ ตัวน่าจะใช้สำหรับแขก เฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดจัดวางเป็นคู่ และมีการกำหนดตำแหน่งให้สมมาตรกันอย่างตั้งใจ เหมือนรู้กฎเกณฑ์ ซึ่งผู้เขียนสันนิษฐานว่า น่าจะเขียนโดยช่างชาวจีน หรือช่างไทยเชื้อสายจีน

          ๒)  ฉากลานโล่งชั้นในและชั้นนอก

          กลุ่มอาคารทั้งสองด้านมีลักษณะคล้ายคลึงกับคฤหาสน์ของคหบดีจีน และดูเหมือนช่างเขียนพยายามจัดวางอาคารตามกฎเกณฑ์อาคารจีนทั่วไป คือกลุ่มอาคารหลักหันหน้าสู่สายน้ำ มีสวนหลังบ้านสำหรับเป็นที่พักผ่อนส่วนตัว มีลานโล่งหลายลาน และมีหอสูงแบบบ้านคหบดี(เฉพาะภาพด้านขวา) หลังคามุงกระเบื้องกาบกล้วยแบบปล้องไผ่แบบที่ชาวจีนนิยม และมีประตูเปิดออกสู่โลกภายนอก
          ทว่า การจัดวางกลุ่มอาคารหลักกลับไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การตั้งบ้านเรือนของชาวจีนที่เน้นทิศทางและความสมมาตร คือเรือนประธานต้องหันหน้าไปทางทิศใต้ มีเรือนบริวารวางตั้งฉากกันทั้งสองด้าน ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ชาวจีนเคร่งครัดมาก แต่องค์ประกอบของกลุ่มอาคารแบบจีนบนหอไตรด้านตะวันตกนี้ ไม่มีเรือนประธานชัดเจน มีเพียงเรือนบริวารที่วางในลักษณะหักมุมฉากกับตัวอาคารด้านหน้า บางอาคารก็วางซ้อนชิดกัน หรือมิฉะนั้นก็วางเหลื่อมกัน
          ตัวอาคารไม่ปิดทึบแบบบ้านชาวจีนทั่วไป แต่เจาะผนังรูปโค้งเป็นช่องทางเข้าออกแทนประตู และเจาะช่องสี่เหลี่ยมแทนหน้าต่าง ทุกช่องแขวนม่านเขียนลายเส้นสีทอง บ้านลักษณะเปิดโล่งเช่นนี้คล้ายบ้านที่บรรดานักปราชญ์และบัณฑิตชาวจีนนิยมใช้สำหรับพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ 
จากการศึกษากลุ่มอาคารที่กล่าวมา จะเห็นว่าไม่ใช่ลักษณะอาคารแบบจีนที่แท้จริง ทำให้ผู้เขียนสันนิษฐานต่อไปว่า ช่างเขียนภาพไม่น่าจะใช่ช่างชาวจีน แต่อาจเป็นช่างชาวไทยเชื้อสายจีน หรือช่างไทยที่เขียนภาพอย่างอิสระโดยไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์
          ลวดลายประดับตกแต่งลงสีทองอย่างงดงามพบบนหน้าจั่ว ช่องลม กรอบประตูด้านบน ใต้กรอบหน้าต่าง เป็นลวดลายที่มีความหมายที่เป็นสิริมงคลทั้งสิ้น แต่ดูเหมือนช่างเขียนไม่เคร่งครัดในการวางทิศทางของลวดลายนัก มีลายคู่บางลายวางกลับหัวกลับหาง ซึ่งไม่ใช่การเขียนลวดลายจีนที่ถูกต้อง น่าจะเป็นฝีมือช่างไทยที่ไม่มีความเข้าใจในเรื่องลวดลายจีนเพียงพอ
          มีภาพผู้หญิงกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ทั้งในอาคารและลานโล่ง บ้างจับคู่สนทนากัน บ้างสาละวนจัดโต๊ะ ทั้งหมดสวมชุดยาว แขนกว้าง มีลายปักสีทอง เกล้าผมมวยสูง ลักษณะการแต่งกาย สีเสื้อผ้า และอากัปกิริยา บ่งบอกว่าอาจเป็นเพียงตัวประกอบ
          กลุ่มผู้ชาย มีกิจกรรมต่างๆกัน บ้างกำลังไปล่าสัตว์ บ้างหามสัตว์เดินเข้ามา (อาจนำมาเข้าในพิธีเซ่นไหว้ก็เป็นได้) มีเด็กวัยรุ่นเต้นกางแขนทั้งสองข้าง สอดคล้องกับอากัปกิริยาของบุคคลที่อยู่นอกกำแพง
          ทุกคนแต่งกายแบบชาวแมนจู สวมกางเกงขายาว เสื้อกั๊กสั้นหรือเสื้อตัวยาวเข้ารูป แขนกุด ผ่าหน้าตลอด ติดกระดุมช่วงบน บ้างสวมเสื้อยาวแค่เข่า แขนกว้าง สวมหมวกฤดูร้อน เป็นการแต่งกายแบบชาวแมนจูตามที่ราชวงศ์ชิงบังคับผู้ชายจีนให้แต่งกายเช่นนี้
          การเขียนเครื่องแต่งกายแบบแมนจูที่เข้ากฎเกณฑ์ ยากที่ช่างไทยจะใส่ใจเช่นนี้ได้หากไม่คุ้นเคยมาก่อน ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฝีมือทั้งของช่างจีนและช่างไทยเชื้อสายจีนที่ทำงานประสานกัน โดยช่างจีนเป็นผู้ร่างภาพขึ้นก่อน
          บุคคลที่น่าสนใจในฉากนี้เป็นตัวแสดงงิ้วสองตัวที่กำลังอยู่ในท่าซ้อมรบ มือถืออาวุธ ยืนอยู่ระหว่างอาคารสองหลัง บุคคลทั้งสองน่าจะเป็นหลักฐานยืนยันการฝึกซ้อมการแสดงงิ้วก่อนออกแสดงบนเวทีจริง

          ๓)  ฉากชายหาด

          เบื้องหลังกำแพงสูงใหญ่ เป็นภาพทิวทัศน์ชายหาด มีเขาไม้แบบจีน มีทะเล มีเรือสำเภาหัวแดงจอดทอดสมออยู่หลายลำ มีกองคาราวานของนักแสดงและนักกายกรรมจำนวนมากมายบนชายหาดเหมือนเพิ่งขึ้นจากเรือ 
          บุคคลเหล่านี้สวมชุดสีน้ำตาล แทบทุกคนแสดงความดีใจ กระโดดโลดเต้น ทำมือและยกขาเข้าจังหวะอย่างมีศิลปะเหมือนประกอบการแสดง
          ห่างออกมามีกลุ่มบุคคลยืนประปรายบนชายหาดกำลังมองดูคณะอุปรากรจีนด้วยความสนใจ บ้างก็ขี่ม้า บ้างก็ยืนจับกลุ่มสนทนากัน บุคคลเหล่านี้น่าจะเป็นชาวจีนที่แต่งกายแบบชาวแมนจู
          ภาพคนขี่ม้านี้อาจเป็นได้ทั้งชนชั้นสูงในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือพ่อค้า หรือคหบดีชาวจีน หรือไม่เช่นนั้นก็อาจเป็นชาวยุโรปที่นิยมการขี่ม้า
          กลุ่มบุคคลดังกล่าวเมื่อเดินทางเข้ามาค้าขายหรือปฏิบัติพันธกิจในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้เรียกร้องให้ทางราชการของสยามตัดถนนเพื่อให้มีสถานที่ขี่ม้าออกกำลังกาย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดฯ ให้เป็นไปตามประสงค์ โดยโปรดฯ ให้ตัดถนนใหม่ซึ่งต่อมาก็คือถนน เจริญกรุง
          ส่วนภาพเรือสำเภาหัวแดงที่ทอดสมออยู่หลายลำนั้น สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่าชาวจีนแต้จิ๋วอพยพมาเมืองไทยกับเรือสำเภาหัวแดง ฉะนั้น คณะอุปรากรจีนในภาพจึงน่าจะเป็นงิ้วแต้จิ๋ว
          แม้ทางการจีนสมัยราชวงศ์ชิงจะออกกฎห้ามหญิงชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๕๕ - ๒๔๓๗ แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นสำหรับกลุ่มนักแสดง จึงมีภาพนักแสดงหญิงเข้ามาปะปนเป็นจำนวนมากเช่นนี้ 

          ๔)      การกำหนดอายุ

          อาจกล่าวได้อย่างกว้างๆ ว่าจิตรกรรมฝาผนังที่หอไตร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ด้านตะวันตก เป็นฝีมือของช่างเขียนตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ - ๔ กรอบหน้าต่างโค้งหยักฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๑ การใช้พื้นหลังสีดำ และแต่งแต้มด้วยเส้นสีทอง เป็นลักษณะของงานจิตรกรรมที่นิยมกันในสมัยรัชกาลที่ ๓ จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ส่วนการเขียนภาพทัศนียวิสัยแบบตะวันตกสันนิษฐานว่าน่าจะเข้ามามีอิทธิพลตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ตอนปลายแล้ว และมาปรากฏชัดเจนมากยิ่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔
          เมื่อประมวลเหตุการณ์แวดล้อม และข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน ผู้เขียนให้น้ำหนักจิตรกรรมฝาผนังที่หอไตรด้านตะวันตก วัดสระเกศฯ ว่าเป็นภาพที่ช่างสามารถนำสภาพแวดล้อมและบริบททางประวัติศาสตร์ ถ่ายทอดฉากชีวิตจริงลงบนผนังได้อย่างครบถ้วน
          ภาพเขียนเล่าเรื่องการมาถึงของคณะอุปรากรจีนเพื่อเปิดการแสดงในกรุงเทพฯ นักแสดงเหล่านี้เดินทางมากับเรือสำเภาหัวแดง ประกอบด้วยกลุ่มผู้หญิง ซึ่งมีทั้งผู้หญิงที่มีสถานภาพสูง หญิงที่เป็นตัวประกอบ หญิงรับใช้ และนักดนตรีหญิงที่กำลังฝึกซ้อมดนตรี ทั้งหมดอาจเป็นผู้แสดงในคณะอุปรากรจีน และกำลังพักผ่อนรอเวลาออกแสดง หลังจากทำพิธีเซ่นไหว้เจ้าแม่มาจู่ หรือเซ่นไหว้เทพเจ้าแห่งการละคร เสร็จสิ้นแล้ว
          ส่วนฝ่ายชาย บ้างก็อยู่ในอากัปกิริยาพักผ่อน ยิงนก ตกปลา ล่าสัตว์ รวมถึงนักกายกรรมหรือตัวตลกบนเวที ท่ากระโดดโลดเต้นอย่างมีจังหวะ แลดูเหมือนทุกคนอยู่ในอากัปกิริยาสบายๆ เช่นเดียวกับนักแสดงสองคนที่กำลังฝึกซ้อมท่างิ้ว เป็นต้น
          อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเท่านั้น
(ngiew.com,๒๕๕๑)

๓.  คณะงิ้วในประเทศไทย

          ในแต่ละคณะ จะคงไว้แต่ชื่อคณะเท่านั้น หากแต่เจ้าของและนักแสดง ได้หมุนเวียนเปลี่ยนกันไป เช่นเดียวกับดารานักแสดงของทางช่องหนึ่ง อาจจะถูกอีกช่องซื้อตัวไปนักแสดงช่องนั้น อาจจะย้ายมาช่องนี้ โดยส่วนมากคนดูงิ้วจะติดตามที่ตัวนักแสดงนั้นๆ
ตำแหน่งหน้าที่ประจำแต่ละคณะ ที่ขาดไม่ได้ คือ 

๑)  ปลูกเวที สร้างฉาก
๒)  ช่างไฟ ช่างเครื่อง
๓)  นักดนตรี ฝ่ายบู๊
          ๔)  นักดนตรี ฝ่ายบุ๋น
          ๕)  ฝ่ายเสื้อผ้า
          ๖)  ฝ่ายหมวก-อุปกรณ์
          ๗)  นักแสดงนำ
          ๘)  ตัวประกอบ ทหาร สาวใช้ ชาวบ้าน
          ๙)  แม่ครัวประจำคณะ
         จำนวนนักแสดงในคณะ จะเปลี่ยนแปลงไปไม่มีคงที่ และด้วยจำนวนคณะงิ้วที่มีการเปิด และปิดอยู่เสมอ จึงมีจำนวนไม่ตายตัว 
         

๔.  สถานการณ์งิ้วในไทยในปัจจุบัน

ปัจจุบันนี้ งิ้วไม่ได้รับความนิยมมากมายเหมือนเมื่อก่อนแล้ว
  หลังปี พ.ศ.2505 เป็นต้นมา งิ้วเริ่มเสื่อมความนิยมลงด้วยสาเหตุจากความเปลี่ยนแปลงหลายประการ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สาเหตุสำคัญที่มีหลายประการ 
          ๔.๑  ความเจริญของสังคมและรูปแบบใหม่ของการบันเทิงเมื่อเทคโนโลยี และวิทยาการเจริญขึ้นสิ่งสนองความบันเทิงถูกประดิษฐ์มาในรูปแบบต่าง ๆ ในยุคปัจจุบันภาพยนตร์ดูจะให้ความบันเทิงแก่คนทั่วไปได้มากที่สุด สำหรับชาวจีนแล้ว ภาพยนตร์จีน จะมีความหมายต่อพวกเขามาก เมื่อประมาณ ๔๐ กว่าปีมานี้ภาพยนตร์จีนจากเซี้ยงไฮ้ได้เข้ามาฉายในกรุงเทพฯ แม้จะเป็นภาพยนตร์ที่แต่งกายแบบปัจจุบัน ก็ได้รับความนิยมจากชาวจีนมากที่สุด ช่วงนี้ทำให้งิ้วเสื่อมความนิยมลงชั่วขณะ
             ผู้อยู่ในวงการงิ้วแต้จิ๋วมีคุณ เฉินเถี่ยฮั้น (ตั้งเถี่ยฮั้น)จึงคิดจะดัดแปลงงิ้ว เพื่อให้สอดคล้องกับรสนิยมของคนจีนจึงได้เข้าร่วมกิจการกับโรงงิ้วแถวเยาวราชแล้วตั้งสมาคมชื่ออู้เจี่ยเส้อโดยเปลี่ยนเนื้อหาของงิ้วที่เคยแสดงอยู่เดิม จากนิยายอิงประวัตศาสตร์มาเป็นเลียนแบบเนื้อหาของภาพยนตร์จีนที่มาจากเซี่ยงไฮ้ เช่นเรื่อง กู่จื่อฉิวจู่จี้ แล้วใส่ทำนองของเพลง และลีลาการแสดงร่ายรำแบบเดิมของงิ้วแต้จิ๋ว ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากผู้ชมเป็นอย่างมาก ผู้ประพันธ์บทในระยะ
นั้นร่ำรวยกันไปมากมาย  ความคิดใหม่นี้เป็นเหตุให้คณะงิ้วอื่นดัดแปลงเนื้อหาจากภาพยนตร์จีนมาแสดงมากขึ้น
          อย่างไรก็ดี งิ้วแต้จิ๋วเริ่มเสื่อมความนิยมลงอย่างมาก เมื่อประมาณ ๒๐ กว่าปีมานี้ เนื่องจากมีภาพยนตร์ งิ้วจากฮ่องกงเข้ามาฉายในเมืองไทย ภาพยนตร์ชนิดนี้ได้รับความนิยมจากชาวจีนอย่างล้นหลาม ทั้งนี้เนื่องจากภาพยนตร์งิ้วมีการดำเนินเรื่องที่รวดเร็วทันใจ                                                                              
          ๔.๒  จำนวนผู้ชมงิ้วแต้จิ๋วอยู่ในจังกัด ชาวจีนรุ่นเก่าผูกพันและชื่นชมกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวจีน ความบันเทิงที่ให้ความสุขแก่พวกเขามากที่สุดก็คือ งิ้ว แต่จีนรุ่นหลังคือ ลูกจีนนั้นน้อยคนนักจะเข้าใจและซึ้งใจในความไพเราะของภาษาดนตรีและความงามในลีลาการร่ายรำ อันเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของบรรพบุรุษตน   ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขาเจริญเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมใหม่และสิ่งที่สำคัญ คือ พวกเขามิได้รับการศึกษาตามแบบอย่างชาวจีนอย่างแท้จริง เมื่อความรู้ภาษาจีนมีน้อยหรือไม่รู้เลย ทำให้ไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาของบทละครได้
             ดังนั้น งิ้วจึงดูเป็นสิ่งให้ความบันเทิงที่เก่าแก่ ครำครึ อาจกล่าวได้ว่าการขาดการศึกษาแบบจีนเป็นสาเหตุแห่งการเสื่อมลงของงิ้วแต้จิ๋วอีกประการหนึ่ง
          ๔.๓  อัตราค่าว่าจ้างมาแสดงนั้นสูงมากกว่าภาพยนตร์และการละเล่นอื่น ๆ หลายเท่านักในปัจจุบันอัตราค่าว่าจ้างงิ้วขั้นสูงไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาทและขั้นต่ำไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาทต่อคืน อัตราค่าจ้างจะลดหลั่นกันไปตามชื่อเสียงของคณะงิ้ว
            ในสมัยก่อนการประกวดการแสดงระหว่างงิ้วหลายโรงที่จัดขึ้นตามศาลเจ้านั้นเป็นวิธีที่ทำให้คณะงิ้วสามารถเรียกค่าว่าจ้างได้สูงมาขึ้น ปัจจุบันนี้แม้ว่าจะไม่มีการประกวดงิ้วกันตามศาลเจ้าก็ตาม หัวหน้าคณะจะสามารถเรียกค้าจ้างได้สูงลิ่วเมื่อมีตัวนางเอกและตัวพระเอกดีมีชื่อเสียง
          ๔.๔  ความยุ่งยากในการขอใบอนุญาตเล่นงิ้วประจำปี ระเบียบในการขออนุญาตจากราชการเพื่อจัดงานรื่นเริงประจำปีของชาวจีน นั้นมีมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕  ในปัจจุบันการของใบอนุญาตก็มีความยุ่งยากกวาเดิมอีก หากชาวจีนผู้ไปติดต่อนั้นไม่รู้จักธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันในวงข้าราชการทั่วไป การขอใบอนุญาตจะต้องขอผ่านสถานีตำรวจของเขตนั้น ๆ เมื่อผ่านใบขออนุญาตแล้วทางคณะกรรมการจัดงาน จะต้องเขียนรายชื่อเรื่องที่คณะงิ้วจะแสดงไปแจ้งยังสถานีตำรวจ ทางสถานีตำรวจจะกำหนดเวลาในการแสดงว่าอนุญาต ให้แสดงถึงเวลาใด  หากคณะงิ้วแสดงเกินเวลากำหนด หรือถ้าไม่แสดงเรื่องตามที่แจ้งไว้จะมีความผิดทางกฎหมายทันที
                   ดังนั้นจึงเห็นว่านอกจากจะต้องเสียค่าขออนุญาต แล้วยังต้องจ่ายในสิ่งอื่นอีกมากมาย ทั้งต้องคอย ระวังให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์อีกด้วย จึงเป็นเหตุให้ชาวจีนไม่นิยมจะว่าจ้างงิ้วมาแสดงในงานประจำปี
          สำหรับชาวจีนในเมืองไทยปัจจุบันแล้ว มาถึงทุกวันนี้ที่ถนนเจริญกรุง และถนนเยาวราช ไม่เหลือโรงงิ้วถาวรให้ผู้ชมได้ตีตั๋วเข้าไปดูงิ้วอีกต่อไปแล้ว คงหาดูได้ก็แต่ในงานศาลเจ้า หรือในเทศกาลสำคัญของชาวจีนเท่านั้น
          แต่อย่างน้อยก็ยังมีคณะงิ้วบางคณะหลงเหลืออยู่พอให้เราได้ชมการแสดงอยู่บ้าง แม้ว่าจะถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงการแสดงคู่กับศาลเจ้าก็ตามที แต่นั่นก็คือหนึ่งภาพสะท้อนที่ทำให้เราเห็นถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของชาวจีนกับชาวไทยที่มีมาเนิ่นนานนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
          งิ้วที่เป็นของคู่กับศาลเจ้าโดยแท้ เมื่อใดที่มีงานฉลองศาลเจ้าก็เป็นโอกาสอันดีสำหรับชาวจีน ผู้ชื่นชมงิ้ว ทั้งหลายจะได้ดูงิ้วอย่างถึงใจ  แต่ครั้นสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ทั้งความเจริญทางเทคโนโลยียิ่งมีมากขึ้นและสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของสังคมไทยในปัจจุบันประกอบกับความยุ่งยากต่าง ๆ ที่จะต้องติดต่อกับวงราชการเพื่อจัดงานประจำปีจึงทำให้ของที่คู่กับศาลเจ้าเปลี่ยนจากงิ้วเป็นภาพยนตร์ไป งิ้วจึงมีโอกาสแสดงน้อยลงเป็นลำดับแม้ว่าในปัจจุบันจะมีงิ้วเร่ ซึ่งแสดงคู่กับศาลเจ้าโดยเฉพาะถึง ๓๐ คณะก็ตาม  ด้วยการว่าจ้างที่น้อยลงไปทุกที คณะงิ้วแต่ละคณะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากดังนั้นหากคณะใดทนต่อการขาดทุนไม่ได้ก็ต้องสลายตัวลงไปในที่สุด อนาคตของ งิ้วหรือ อุปรากรจีน ในเมืองไทย ยังจะดำรงอยู่ได้ ตราบที่ศาลเจ้ายังมีผู้ศรัทธาจ้างเอางิ้วไปแสดง แต่หากศาลเจ้า ขาดผู้ศรัทธาไม่มีใครเข้ามาอุปถัมภ์ค้ำจุน งิ้วก็จะสาบสูญสิ้นไป
          น่าเสียดายที่เด็กไทยรุ่นหลังจะต้องมาพลิกสารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เพื่อดูความหมายของคำว่า งิ้วที่ ชาวไทยคุ้นเคยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และอาจหาชมภาพ ชมของใช้ได้จาก พิพิธภัณท์งิ้วในประเทศจีนเท่านั้น ดังเช่น ละครไทย โบตั๋นกลีบสุดท้ายนั่นเอง

(ngiew.com,๒๕๕๑)

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น